TRAFFIC Logo

 

Published 27 Tháng một 2011

  English 

ปัญหาการลักลอบค้างาช้าง

วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554   การลักลอบนำเข้างาช้างดิบจากต่างประเทศและการค้าผลิตภัณฑ์งาช้างโดยผิดกฎหมายนับว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการต่อต้านการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย ประเทศไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับองค์กรทราฟฟิค (TRAFFIC) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ประกอบการค้างาช้าง จำนวน 100 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการค้างาช้างเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนพาณิชย์และบัญชีสำหรับสินค้าประเภทงาช้าง ในขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการค้าผลิตภัณฑ์งาช้างภายในประเทศ รวมทั้งทักษะในการจำแนกงาช้าง โดยในครั้งนี้จังหวัดสุรินทร์ได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดประชุม เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งค้าและแกะสลักงาช้างที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ


การประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการค้าผลิตภัณฑ์งาช้างจดทะเบียนพาณิชย์และจัดทำบัญชีสินค้าจากงาช้างที่มีอยู่ในสต็อกของแต่ละคนภายใต้บังคับของกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งในปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการที่ได้รับทราบและให้ความสนใจจดทะเบียนในปริมาณที่น้อยมาก

การค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากช้างในประเทศไทยเป็นไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีจำนวนร้านค้ากว่าร้อยร้านที่เปิดขายงาช้างและผลิตภัณฑ์จากช้างอย่างเปิดเผย แต่ยังไม่มีระบบฐานข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์ที่สมบูรณ์และยังไม่มีมาตรการการควบคุมการค้าที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นการยากที่จะระบุได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่นั้นมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายภายใต้กฎหมายปัจจุบันหรือไม่ 

คดีการลักลอบนำเข้างาช้างที่ผิดกฎหมายมายังประเทศไทยมีจำนวนมาก และจากสถิติการจับกุมงาช้างในต่างประเทศที่ระบุต้นทางจากประเทศไทย พบว่า ในปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่เป็นศูนย์กลางการค้างาช้างที่ผิดกฎหมายของโลก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย

“ มันเป็นปัญหาที่เราได้เล็งเห็นและตระหนักอยู่ตลอดเวลา และยินดีที่จะสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในทุกๆ ด้านที่เจ้าหน้าที่ต้องการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย  รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการค้างาช้างหันมาเอาใจใส่ในเรื่องนี้ด้วย”  นายสุนันต์  อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว 

เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยมีการจับยึดงาช้างครั้งใหญ่มีน้ำหนักรวมกว่า 4.5 ตัน  ดังนั้น ประเทศไทยจึงประกาศเปิดตัวโครงการรณรงค์ให้ผู้บริโภคหยุดซื้องาช้างที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการนำงาช้างและผลิตภัณฑ์จากช้างดังกล่าวออกนอกประเทศ  โดยจัดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ   นอกจากนี้ ได้มีการยกร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับช้างขึ้นเพื่อปิดช่องว่างและเพิ่มมาตรการที่รัดกุมในการค้างาช้างเลี้ยงหรือช้างบ้านในประเทศไทย

“ การจับกุมงาช้างดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี” มิสเตอร์ ทอม มิลลิเคน ผู้อำนวยการองค์กรทราฟฟิค ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและใต้กล่าว “ แต่นั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณการค้างาช้างในประเทศไทยด้วย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่สามารถจับกุมได้  งาช้างดังกล่าวก็จะเข้าสู่ตลาดค้างาช้างในประเทศ และนั่นก็จะเป็นปัญหาใหญ่มาก”

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดสุรินทร์ครั้งนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถสำรวจ และบังคับใช้กฎหมายใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความเข้าใจและสามารถใช้ระบบฐานข้อมูลการค้าช้าง (ETIS) อย่างถูกต้อง  ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบฐานข้อมูลการจับกุมงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่มาจากช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งองค์กรทราฟฟิค (TRAFFIC) เป็นองค์กรที่รับหน้าที่บริหารจัดการฐานข้อมูลดังกล่าวโดยได้รับมอบหมายจากภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) 

ในขณะที่ประเทศไทยมีการจัดการกับมาตรการการค้างาช้างที่ยังไม่สมบูรณ์นั้น  ทราฟฟิค (TRAFFIC) ได้มีส่วนสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดความพยายามที่ยั่งยืน เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในที่สุด

“ทราฟฟิค (TRAFFIC) อยากเห็นเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยทำงานร่วมกันในการดำเนินคดีผู้ลักลอบค้างาช้างทั้งหมดที่จับกุมได้ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้กฎหมายขั้นรุนแรงสูงสุด” มิสเตอร์ คริส อาร์ เชฟเพิด (Chris R. Shepherd) รองผู้อำนวยการทราฟฟิค ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “ เราอยากจะเห็นการขยายการบังคับใช้กฎหมายไปยังตลาดค้าปลีกด้วยการจับกุมผู้ขายงาช้างที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการลักลอบ เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสูง  การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะทำให้เกิดผลสำเร็จ” มิสเตอร์ คริส กล่าวเสริม


Notes:

1. การจับกุมงาช้างที่สำคัญที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยศุลกากรไทยในปี 2553 และ 2554
•    กุมภาพันธ์ 2553:        239 งา น้ำหนัก 2 ตัน
•    เมษายน 2553:             1.4 ตัน
•    กรกฎาคม 2553:        117 งา น้ำหนัก 765 ก.ก.
•    สิงหาคม 2553:            16 ชิ้น น้ำหนัก 90 ก.ก.
•    มกราคม 2554:            69 งา และชิ้นงาขนาดเล็ก 4  ชิ้น น้ำหนัก 435 ก.ก.

2. ห้ามมิให้มีการค้างาช้างระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

3. ปัจจุบันช้างเอเชีย (Elephas maximus) อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ และช้างแอฟริกัน (Loxodonta africana) อยู่ในสถานะ Red List ของ IUCN ทั้งสองชนิดถูกคุกคามเนื่องจากหลายสาเหตุรวมทั้งการล่า การค้าผิดกฎหมาย และถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย

เกี่ยวกับ TRAFFIC

TRAFFIC เป็นเครือข่ายการสำรวจตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า ทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าการค้าสัตว์ปา และพืชป่ามิได้คุกคามการอนุรักษ์ธรรมชาติ TRAFFIC เป็นโครงการร่วมกันระหว่าง IUCN และ WWF    TRAFFIC ทำงานเพื่อสนับสนุนหน่วยงานราชการในการใช้เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายในเอเชีย และโลกในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งช่วยเหลือทางด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการให้ความสะดวกในการเจรจาระหว่างหน่วยงานภาครัฐในระดับสากล สนับสนุนส่วนตุลาการ และทำงานร่วมกับ WWF ในการพัฒนาความร่วมมือจากหน่วยงานระดับประเทศ ไปถึงระดับผู้ดำเนินการในท้องที่ สนับสนุนประเทศสมาชิกของอาเซียน และเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าเอเชียใต้ รวมไปถึงจีน และประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลโดยตรง
www.traffic.org