TRAFFIC Logo

 

Published 16 June 2011

การค้าสัตว์ป่าจากมาดากัสการ์ในประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 – รายงานฉบับล่าสุดจากองค์กร TRAFFIC ระบุว่าผู้ค้าสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยได้จำหน่ายสัตว์พื้นเมืองของประเทศมาดากัสการ์ที่กำลังจะสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก ทั้งสัตว์เลื้อยคลาน (reptiles) และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibians)ไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ แม้จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าการนำเข้ามาในประเทศนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  จากการสำรวจโดย TRAFFIC ในเวลา15 วัน กับผู้ค้าจำนวน 32 คน ในกรุงเทพฯ และอีก 8 จังหวัด  พบว่ามีสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากมาดากัสการ์เป็นจำนวนถึง591 ตัวอย่างวางขายอยู่


“ สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คือมีการค้า กิ้งก่ายักษ์มาดากัสการ์ (Endemic Malagasy chameleons)อย่างแพร่หลายและเป็นจำนวนมาก รายงานการค้าสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมาดากัสการ์ในประเทศไทย ของ TRAFFIC ระบุ

ผู้สำรวจพบกิ้งก่าคามีเลี่ยน 233 จาก 16สายพันธุ   รวมทั้ง สายพันธุ์ Antsingy Leaf Chameleon (ชื่อเต็ม Antsingy Leaf Chameleon Brookesia perarmataI) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ห้ามมิให้มีการจำหน่ายข้ามประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)ถูกนำออกจำหน่ายในตลาด ร้านค้า และทางอินเทอร์เน็ต

แม้ว่าผู้ค้าสามารถจำหน่ายกิ้งก่าคามีเลี่ยนบางสายพันธุ์จากมาดากัสการ์ได้ตามกฏหมายหากมีใบอนุญาต แต่พบว่าประมาณเกือบ 78 เปอร์เซนต์ ของสัตว์ชนิดนี้ หรือประมาณ 3,738 ตัว ที่ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยระหว่างปีพ.ศ. 2547 – 2548 เป็นกลุ่มประชากรที่เกิดจาก “การลักลอบจับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากป่ามาขังเพื่อขยายพันธุ์” แล้วส่งออกโดยตรงจากประเทศคาซัคสถาน หรือส่งผ่านประเทศเลบานอน เพื่อต่อมายังประเทศไทย, รายงานข้างต้นจาก TRAFFIC ระบุ

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลการค้าอย่างเป็นทางการพบว่า ไม่มีรายงานจากประเทศคาซัคสถานว่ามีการนำเข้ากิ้งก่าคามีเลี่ยนจากมาดากัสการ์ หรือรายงานการส่งออกสัตว์ชนิดนี้จากประเทศใดไปยังประเทศคาซัคสถาน อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าการลักลอบนำเข้ากิ้งก่าคามีเลี่ยนจากมาดากัสการ์ ต้องเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการจับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากป่ามาขังเพื่อขยายพันธุ์ แล้วจึงส่งกลุ่มประชากรที่เกิดใหม่จากการขยายพันธุ์นี้ออกไปยังประเทศเลบานอน ก่อนที่จะมีการส่งออกจากเลบานอนไปยังประเทศไทย

“ ถ้ากิ้งก่าคามีเลี่ยนมาดากัสการ์ถูกจับมาจากป่าและถูกขังเพื่อขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากในประเทศคาซัคสถาน จริง ผู้ลักลอบค้าเหล่านี้ ไปลักลอบนำเข้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาจากไหน และเหตุใดจึงมีการส่งออกเป็นจำนวนมากผ่านทางประเทศเลบานอน ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่เป็นภาคีอนุสัญญาไซเตส (CITES)” Chris Shepherd, รองผู้อำนวยการองค์กร TRAFFIC ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งคำถาม

ข้อมูลการค้าอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าประเทศเลบานอนได้มีการนำเข้ากิ้งก่ามาดากัสการ์จำนวน 32 ตัว  อย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2548 จากภาคี CITES

 “ตามทฤษฎีแล้วถึงแม้ว่าอัตราการฟักไข่ และการอยู่รอดมีสูง ก็ยังเป็นไปไม่ได้ที่กิ้งก่า 32 ตัวจะสามารถออกลูกเป็นพันๆตัว เพื่อการส่งออกมายังประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีถัดมาตามที่ประเทศไทยอ้าง การส่งออกจำนวนมากในกรณีนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร” Shepherd ตั้งคำถามเพิ่มเติม

ยังมีสัตว์ชนิดอื่นที่พบในประเทศไทยระหว่างการสำรวจข้างต้นของเจ้าหน้าที่ TRAFFIC ซึ่งมีทั้งเต่าลายรัศมี (Radiated Tortoise Astrochelys radiata) จำนวนกว่าร้อยตัว เต่าแมงมุม (Spider Tortoise Pyxis arachnoids) หลายสิบตัว และเต่ายูนิฟอร่า (Ploughshare Tortoise Astrochelys yniphora) 3 ตัว – ซึ่งทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ที่หายากที่สุดของโลกทั้ง 3 สายพันธุ์   โดย ถูกจัดสถานะจาก สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ให้เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ และห้ามมิให้มีการค้าระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาไซเตส (CITES)    เชื่อกันว่าประชากรของเต่าลายรัศมีลดลง 30 เปอร์เซนต์ หรือน้อยกว่าในอดีตที่พบในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของมาดากัสการ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552   และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเต่าหลายตัวถูกลักลอบจับออกมาจากป่า ซึ่งแสดงถึงการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย

Richard Hughes, ผู้แทน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ในประเทศมาดากัสการ์ กล่าวว่า“เราทราบว่ามีการค้าสัตว์ป่าหลายชนิดจากมาดากัสการ์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครอง ในรูปแบบที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง เพื่อการนำเข้ามายังประเทศในทวีปเอเชีย  การกระทำที่ผิดกฏหมายดังกล่าวเป็นผลพวงจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศซึ่งก่อให้เกิดความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ รวมไปถึงการควบคุมดูแลพื้นที่สงวนในขณะเดียวกัน”

จากการสำรวจของ TRAFFIC พบว่า การค้าสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากมาดากัสการ์ที่เคยจำกัดอยู่เฉพาะในตลาดนัดจตุจักรในกรุงเทพมหานครนั้น ปัจจุบันได้ขยายไปยังส่วนภูมิภาค และแพร่หลายในอินเทอร์เน็ต โดยมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นเครือข่ายผู้ค้าที่ทำธุรกิจกับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

รายงานจาก TRAFFIC ได้เรียกร้องให้ทางการไทยตรวจสอบ และดำเนินการเพื่อหยุดยั้งการนำเข้าจากแหล่งต้องสงสัยโดยผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีมาตรการดำเนินการต่อผู้ที่ลักลอบค้าสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอย่างเข้มงวดและจริงจัง

 “ผู้ค้าสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอย่างผิดกฎหมายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ยำเกรงกฎหมาย และสร้างภาพลักษณ์เชิงลบเป็นอย่างมากให้กับประเทศไทย” Shepherd กล่าว

สัปดาห์ที่แล้ว สัตว์เลื้อยคลานที่เป็นสัตว์คุ้มครองกว่า 800 ตัวถูกตรวจยึดได้โดยเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตามทางการไม่สามารถจับผู้กระทำความผิดได้  การตรวจยึดเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย แต่น้อยครั้งที่ผู้กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

“การตรวจยึดกิ้งก่าคามีเลี่ยนมาดากัสการ์โดยเจ้าหน้าที่สนามบินเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายงานจาก TRAFFIC ฉบับล่าสุดได้ระบุให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การสำรวจตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยการสำรวจแผงขายของในตลาดและสำรวจการค้าในรูปแบบอื่นๆ เท่านั้น ที่ทำให้เรามีความหวังว่าจะสามารถเปิดโปงขอบเขตที่แท้จริงของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่ผิดกฎหมาย รวมไปถึงผลกระทบของการกระทำดังกล่าวต่อประชากรกิ้งก่าคามีเลี่ยนจากป่าได้” ดร. Richard Jenkins, ประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งก่าคามีเลี่ยนของ IUCN/SSC กล่าว

ในปีพ.ศ. 2556 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภาคีอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้แทนของรัฐบาลจาก175 ประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ


Notes:

1 TRAFFIC เป็นโครงการ่ความร่วมมือระหว่าง IUCN และ WWF ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ดำเนินงานตรวจสอบและรณรงค์เพื่อต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ 

2 งบประมาณในการจัดทำรายงานฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจาก the Darwin Initiative Grant, entitled ‘Chameleon Trade and Conservation in Madagascar’ ผ่านทาง DICE University of Kent and Madagasikara Voakajy.